13.11.09

ตะคริว (muscle cramps)

โดย : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ

ตะคริว (muscle cramps) เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหดเกร็งเองโดยที่ร่างกายไม่ได้สั่งให้เกร็ง หรือหดตัว แต่กล้ามเนื้อนั้นหดเกร็งเองเป็นระยะเวลาหนึ่ง ร่างกายไม่สามารถควบคุมให้กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ คลายตัวหรือหย่อนลงได้ ถ้าหากไม่ได้รับปฏิบัติที่ถูกต้อง กล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวหรือหดเกร็งจะค่อยๆ คลายตัวทีละน้อยไปเอง แต่กว่าจะหาย คนที่เป็นตะคริวก็จะมีความเจ็บปวดค่อนข้างมาก โดยทั่วไปตะคริวมักเกิดไม่เกินสองนาที แต่อาจมีบางรายเกิดนานได้ถึงห้านาทีหรือนานกว่านั้น ในบางรายอาจเกิดบ่อยจนทำให้เกิดความทุกข์ทรมานได้ โดยทั่วไปตะคริวมักเกิดในผู้สูงอายุ และเกิดในตอนกลางคืน แต่ก็อาจเกิดในคนอายุน้อย และเกิดได้ทุกเวลา อาการนี้ถึงแม้จะไม่ส่งผลเสียถึงแก่ชีวิต แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ถ้าเกิดระหว่างว่ายน้ำ หรือขับรถ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
ปัญหาที่นักกีฬาแทบทุกคนเคยประสบพบมา ไม่เป็นกับตัวเองก็เห็นด้วยตาคือเรื่องของกล้ามเนื้อเป็นตะคริว ในนักกีฬา อาจพบว่า บางครั้ง บางคนหายใจมากไปเกินกว่าร่างกายต้องการ เช่น เมื่อวิ่งไปนานๆ เกิดอาการเหนื่อย หากตื่นเต้นไปหรือไม่รู้จักหายใจให้ถูก แทนที่จะหายใจ ลึกๆ ยาวๆ กลับหายใจตื้นๆ สั้นๆ กระชั้นถี่ แบบนี้จะทำให้เกิดภาวะตะคริวได้ง่าย ตะคริวก่อให้อาการกล้ามเนื้อเกร็งแข็งและปวด ซึ่งจะเกิดขึ้นรวดเร็ว และมักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่นาที กล้ามเนื้อที่พบเป็นตะคริวได้บ่อยได้แก่กล้ามเนื้อน่องและต้นขา ตะคริวเป็นภาวะพี่พบได้บ่อยมาก ซึ่งจะพบได้เป็นครั้งคราวในคนเกือบทุกคน

สาเหตุ
สาเหตุของตะคริวเกิดความล้า กล้ามเนื้อจากการใช้งานติดต่อเป็นเวลานาน หรืออาจเกิดจากการกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำต่อกล้ามเนื้อ หรืออาจเกิดจากภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
สาเหตุการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด มีหลายทฤษฎี อาจเกิดจากการที่เอ็น และกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อยๆ ทำให้มีการหดรั้ง เกร็งได้ง่ายเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อนั้นมากเกินไป นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากเซลล์ประสาท และเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป และประการสุดท้ายอาจเกิดจากการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดีพอซึ่งมักพบในคนที่มีโรคที่ทำให้หลอดเลือดตีบ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
เกิดจากขาดเกลือ และแร่ธาตุอื่นๆ เช่น โปแตสเซี่ยม หรือ แมกนีเซียม ในผู้ป่วยที่ร่างกายเสียเกลือโซเดียม เนื่องจากท้องเดิน อาเจียน หรือสูญเสียไปทางเหงื่อเนื่องจากความร้อน อากาศร้อน หรือทำงานในที่ที่ร้อนจัด อาจเป็นตะคริวรุนแรง คือ เกิดกับกล้ามเนื้อหลายส่วนของร่างกาย และมักจะเป็นอยู่นาน ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำก็อาจเป็นตะคริวได้บ่อย
เกิดจากกล้ามเนื้อบาดเจ็บ หรือ ใช้งานมากไป รวมทั้งการขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ อันเนื่องมาจากการเกร็งอยู่นานๆ ทำให้ตัดทางเดินของเลือด ในคนที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เช่น คนสูงอายุ ก็มีโอกาสเป็นตะคริวได้บ่อยขึ้น และอาจเป็นขณะที่เดินนานๆ เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี
การหายใจเข้า-ออกมากไป เมื่อไม่มีความจำเป็นจะทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้แคลเซี่ยมได้ เช่น คนที่เป็นโรคจิต โรคประสาท อาจหายใจหอบโดยไม่มีสาเหตุ ทำให้มือหงิกงอ ซึ่งก็ถือว่าป็นตะคริวอีกแบบหนึ่ง
ส่วนมากจะไม่มีสาเหตุร้ายแรงเป็นเพียงชั่วเดี๋ยวเดียวก็หายได้เอง บางคนอาจเป็นตะคริวที่น่องขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด บางคนอาจเป็นหลังออกกำลังมากกว่าปกติหรือนอนนั่งหรือยืนในท่าที่ไม่สะดวกนานๆ ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก
ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อาจเป็นตะคริวได้บ่อยขึ้น เนื่องจากระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำ หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก

ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดตะคริว
ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีสาเหตุ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เป็นต้น นอกจากนั้นโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคไตวาย โรคเบาหวาน โรคของต่อมธัยรอยด์ ซีด น้ำตาลในเลือดต่ำ โรคพาร์กินสัน ร่างกายขาดสารน้ำ และความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย ได้แก่ แมกนีเซียม แคลเซียม โปแตสเซียม ยังทำให้เกิดตะคริวขึ้นได้ง่าย
การทำงานมากๆ จนเมื่อยล้าหรือนั่งขดแขนขาอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ก็อาจทำให้เกิดตะคริวขึ้นได้เช่นกัน เพราะเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงแขนขาได้สะดวก
เรื่องของเกลือ เราท่านมีความเข้าใจผิดๆ กันอยู่มากในเรื่องเกี่ยวกับเกลือ มักเข้าใจว่า ถ้าใครเป็นตะคริว ต้องเป็นจากขาดเกลือ จึงได้เห็น การรักษาตะคริวโดยให้กินเกลือกันอย่างแพร่หลาย ความจริงที่มีผู้พิสูจน์แล้วคือ คนทั่วไปมักไม่ขาดเกลือ ออกจะมีเหลือเฟือ เสียด้วยซ้ำไป
โปแตสเซียม ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายความร้อนที่เกิดขึ้น ในระหว่างการทำงาน เวลาวิ่งมีความร้อนเกิดขึ้นมากมาย มหาศาล โปแตสเซียม จึงถูกใช้งานหมดไปได้อย่างมาก
แมกนีเซี่ยม ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยประสานงานกับแคลเซี่ยม แม้จะไม่เสียไปมากอย่างโปแตสเซี่ยม แต่ก็ขาดไม่ได้ ดังนั้น แร่ธาตุ ที่เราควรให้ความสนใจ คือ โปแตสเซี่ยม เนื่องจากมีการเสียไปในระหว่างออกกำลัง จึงต้องกินเข้า ไปชดเชยกันอาหารที่อุดมด้วยโปแตสเซียม คือ ผลไม้ ถั่ว และผัก


อาการ
ผู้ป่วยอยู่ๆ รู้สึกกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใด (เช่น น่อง หรือต้นขา) มีการแข็งตัว และปวดมาก เอามือคลำดูจะรู้สึกแข็งเป็นก้อน ถ้าพยายามขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อส่วนนั้นจะทำให้ยิ่งแข็งตัวและปวดมากขึ้น การนวด และยืดกล้ามเนื้อส่วนนั้น จะช่วยให้ตะคริวหายเร็วขึ้น ถ้าเป็นขณะนอนหลับ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดจนสะดุ้งตื่น โดยทั่วไป จะเป็นอยู่เพียงไม่กี่นาทีก็หายได้เอง และไม่มีความผิดปกติอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เมื่อหายแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นปกติทุกอย่าง

การปฐมพยาบาล การปฐมพยาบาลเบื้องต้นมีหลักการดังนี้ ท่านจะต้องค่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อออกให้อยู่ในความยาวที่ปกติของกล้ามเนื้อนั้นๆ และให้ยืดกล้ามเนื้ออยู่จนกระทั่งหายปวด อาจใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที แล้วลองปล่อยมือดูอาการว่ากล้ามเนื้อนั้นๆ ยังเกร็งอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่ ให้ทำซ้ำอีกจนกระทั่งปล่อยมือแล้วไม่มีการเกร็งตัว ถือว่าเพียงพอแล้ว
ขอยกตัวอย่างหากเกิดตะคริวที่น่อง ให้ท่านรีบเหยียดเข่าให้ตรง และรีบกระดกปลายเท้าขึ้น อาจทำเองหรือให้คนที่อยู่ใกล้ๆ ช่วยก็ได้ ถ้าท่านทำเองอาจก้มไปเอามือดึงปลายเท้าเข้าหาตัว ค้างไว้ประมาณ 1 - 2 นาที จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องปวดได้เป็นอย่างดี การบีบนวดขณะกล้ามเนื้อเกร็งตัวไม่ควรทำ แต่ถ้าหากกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว อาจบีบนวดโดยใช้มือบีบนวดไล่จากเอ็นร้อยหวายขึ้นไปจนถึงข้อเข่า ใช้ทิศทางเดียว เพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดกลับไปสู่หัวใจได้ดีขึ้น


การรักษา
ขณะที่เป็นตะคริว ให้ทำการปฐมพยาบาล โดยใช้มือนวดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว หรือยืดกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้ตึง เช่น ถ้าเป็นตะคริวที่น่อง ให้เหยียดหัวเข่าตรง และดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาเข้าให้มากที่สุด ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขาให้เหยียดหัวเข่าตรง ยกเท้าขึ้นให้พ้นจากเตียงเล็กน้อย และกระดกปลายเท้าลงล่าง ไปทางด้านตรงข้ามกับหัวเข่า เนื่องจากตะคริวเป็นการหดตัวไม่คลายของกล้ามเนื้อ จุดมุ่งหมายการรักษา จึงมุ่งที่การยืด และบีบเพื่อให้มันคลายตัว เช่นว่า ถ้าเป็นที่น่อง ให้ลองเอามือหนึ่งบีบที่ส่วนเป็นตะคริว อีกมือหนึ่งให้ดึงเท้าขึ้น เป็นการยืดกล้ามเนื้อน่อง
ถ้าเป็นตะคริวขณะเข้านอนตอนกลางคืนบ่อยๆ เช่นหญิงที่ตั้งครรภ์ คนสูงอายุ ก่อนนอนควรดื่มนมให้มากขึ้นและยกขาสูง ใช้หมอนรองจากเตียงประมาณ 10 ซม. (4 นิ้ว) ในหญิงตั้งครรภ์ อาจให้ยาเม็ดแคลเซียมแลกเทตกินวันละ 1-3 เม็ด
ถ้าเป็นตะคริวจากการเสียเกลือโซเดียม เช่นเกิดจากท้องเดิน อาเจียน เหงื่อออกมาก ควรให้ดื่มน้ำเกลือผสมเอง ถ้าดื่มไม่ได้ ควรให้น้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์ทางหลอดเลือดดำ
ถ้าเป็นๆ หายๆ บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นขณะเดินนานๆ ควรแนะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ อาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดที่ขา หรือมีภาวะหลอดเลือดแข็งจากเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือโรคอื่นๆ ถ้าเป็นบ่อยมากควรหาสาเหตุ ตรวจเช็คว่ายาที่รับประทานอยู่เป็นสาเหตุของตะคริวได้หรือไม่ อาจต้องตรวจหาโรคทางกายดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปมักไม่ค่อยพบสาเหตุ
ในกรณีที่ไม่พบสาเหตุ ควรให้กินไดเฟนไฮดรามีน ขนาด 50 มก. ก่อนนอน อาจช่วยป้องกันไม่ให้เป็นตะคริวขณะเข้านอนได้ การแก้ไขในระยะยาว เราควรดูที่สาเหตุ ถ้าเป็นจากออกกำลังมากไป ให้ลดลง ถ้าเป็นจากขาดแร่ธาตุ ให้กินชดเชย ถ้าเป็นจากหายใจผิด ให้ฝึกหายใจเสียใหม่ เป็นต้น
การรักษาที่ดีอย่างหนึ่งคือ การยืดกล้ามเนื้อที่เกิดตะคริว นั้นให้คลายออกอย่างช้าๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดตะคริวที่น่องจะทำให้เกิดเกร็งปลายเท้าจิกชี้ลงพื้นดิน ก็ให้ทำการดันปลายเท้าให้กระดกขึ้นช้าๆ แต่ห้ามทำการกระตุก กระชากรุนแรงอย่างรวดเร็ว เพราะจะเจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้ ในรายที่เป็นบ่อยๆ มีการใช้ยาบางอย่าง เช่น ควินีนและยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด ซึ่งอาจใช้ในระยะสั้นๆ เช่น 4-6 สัปดาห์และดูการตอบสนอง แต่ผลการศึกษาถึงประโยชน์ยังไม่ชัดเจนนัก และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบางราย เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ ตับอักเสบ หูอื้อ เสียงดังในหู เวียนศีรษะได้ เป็นต้น ดังนั้นโดยทั่วไปมักไม่ค่อยได้ใช้กันทั่วไป


การป้องกัน
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะตะคริวมักเกิดในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือคนที่ขาดการออกกำลังกายที่ดีพอ
การฝึกการยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ อาจลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ เช่น ที่น่องอาจทำได้โดยการกระดกเท้าขึ้นลง หรือเอามือแตะปลายเท้าขณะเหยียดเข่า ปั่นจักรยานอยู่กับที่ หรือยืนบนส้นเท้าห่างผนัง 1 ฟุตแล้วเอามือทาบผนังและค่อยๆ เหยียดแขนออกเพื่อยืดกล้ามเนื้อประมาณ 30 วินาทีแล้วทำใหม่ เป็นต้น
ถ้าออกกำลังกายหนักควรดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอ
ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
ผู้สูงอายุควรค่อยๆ ขยับแขนขาช้าๆ และหลีกเลี่ยงอากาศเย็นมากๆ
สวมรองเท้าที่พอเหมาะและอาจใส่ถุงเท้าตอนนอนเพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า
ในรายที่เป็นบ่อยๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุตะคริว